Webb, Beatrice (1858–1943)

นางเบียทริซ เว็บบ์ (พ.ศ. ๒๔๐๐–๒๔๘๖)

 เบียทริซเว็บบ์เป็นนักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยม นักประวัติศาสตร์แรงงาน และนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ เธอและสามีเป็นสมาชิกรุ่นแรก ๆ ของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนหรือแอลเอสอี (London School of Economics and Political Science–LSE) อันมีชื่อเสียงใน ค.ศ. ๑๘๙๕ เว็บบ์อุทิศชีวิตให้แก่การค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในสังคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขความยากจน ปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจ และการศึกษา ตลอดจนค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่าง ๆ

 เว็บบ์เกิดในสกุลพอตเตอร์ โดยมีชื่อเต็มว่า มาร์ทา เบียทริซ พอตเตอร์ (Martha Beatrice Potter) เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๘ ที่คฤหาสน์สแตนดิช (Standish House) ซึ่งมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่า ๗๕ ไร่ ในหมู่บ้านสแตนดิช (Standish) ใกล้เมืองกลอสเตอร์ (Gloucester) มณฑลกลอสเตอร์เชียร์ (Gloucestershire) ที่บิดาเช่าจากเจมส์ ดัตตันบารอนเชอร์บอร์นที่ ๓ (James Dutton, 3ʳᵈ Baron Sherborne) ครอบครัวจึงจัดว่าเป็นชนชั้นกลางระดับสูงซึ่งเธอระบุด้วยว่าเป็นชนชั้นที่ “เคยชินกับการออกคำสั่งจนเป็นนิสัย” เว็บบ์เป็นบุตรคนที่ ๘ ในจำนวน ๑๐ คนของริชาร์ดพอตเตอร์ (RichardPotter) ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านกิจการรถไฟที่มั่งคั่งประธานบริษัทรถไฟสายตะวันตก (Great Western Railway) ซึ่งเชื่อมกรุงลอนดอนกับเมืองต่างๆในภูมิภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ และกับแคว้นเวลส์ (Wales)ลอเรนซินา เฮย์เวิร์ท (Laurencina Heyworth) มารดาเป็นบุตรสาวของพ่อค้าแห่งเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) แม้เว็บบ์จะเกิดในครอบครัวที่มีความเป็นอยู่สุขสบายเธอกลับเติบโตอย่างหงอยเหงาและว้าเหว่จนมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและร่างกายที่มักจะเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ อยู่เสมอเพราะริชาร์ด (Richard) น้องชายคนเดียวที่เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวได้รับความรักความเอาใจใส่จากมารดาอย่างมากจนเธอรู้สึกอ้างว้าง และเมื่อริชาร์ดเสียชีวิตในวัย ๒ ขวบ มารดาก็ทุ่มเทความรักไปให้โรซาลินด์ (Rosalind) น้องสาวคนถัดไปของเธอ

 เว็บบ์ไม่ได้รับการศึกษาในระบบเช่นเดียวกับบุตรของผู้ดีมีสกุลในสมัยนั้น แต่เธอมีความเฉลียวฉลาดและเรียนรู้กับครูสอนพิเศษตามบ้าน (governess) จากการเดินทางไปกับบิดามารดาอย่างกว้างขวางจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดของบิดาเกี่ยวกับปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และจากการพูดคุยติดต่อโดยตรงกับบุคคลในวงการเมืองวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม และกับบุคคลในแวดวงของบิดา โดยเฉพาะกับเฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) นักปรัชญาที่นำทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ไปประยุกต์กับการพัฒนาสังคมและโอกุสต์ กงต์ (Auguste Comte) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวิชาสังคมวิทยาและแนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) หลังจากมารดาเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๘๒ เบียทริซทำงานในธุรกิจของบิดา เธอเกือบจะได้สมรสกับโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* นักการเมืองพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ที่เธอตกหลุมรัก ขณะนั้นเชมเบอร์เลนเป็นพ่อม่ายและมีอายุแก่กว่าเธอถึง ๒๒ ปี ในที่สุดการเข้ากันไม่ได้ทางด้านอารมณ์ก็ทำให้ต้องเลิกรากัน หลังจากผิดหวังในความสัมพันธ์กับนักการเมืองรุ่นใหญ่ดังกล่าว เว็บบ์หันไปทำงานการกุศลใน ค.ศ. ๑๘๘๓ เธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก็บค่าเช่าของสมาคมองค์การการกุศลหรือซีโอเอส [Charity Organization Society–COS ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เปลี่ยนเป็นสมาคมสวัสดิการครอบครัว (Family Welfare Association)] ซึ่งเป็นองค์กรของคริสต์ศาสนาที่มุ่งช่วยเหลือคนยากจนในลักษณะดูความจำเป็นและไม่ส่งเสริมการช่วยด้วยการให้เงินหรือสิ่งของเรื่อยไป เพราะอาจทำให้ประชาชนคอยแต่จะรับความช่วยเหลือและไม่คิดที่จะเลี้ยงชีพด้วยตนเองการทำงานใกล้ชิดกับคนยากจนนั้นทำให้เธอพบว่าการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ปัญหาของคนยากจนได้ เธอเสนอว่าต้องแก้ที่สาเหตุของความยากจน เช่น ระดับการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่พักอาศัย การสาธารณสุข

 ต่อมาเว็บบ์ไปช่วยเก็บข้อมูลให้แก่งานสำรวจเรื่อง “ชีวิตและงานของประชาชนในกรุงลอนดอน” (Life and Labour of the People in London) ของชาลส์บูท (CharlesBooth) เจ้าของบริษัทเดินเรือกลไฟส่งสินค้าข้ามทวีปและนักปฏิรูปสังคมคนสำคัญซึ่งเป็นญาติของเธอ บูทเก็บข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพของคนยากจนด้วยการลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งสลัมต่าง ๆ ในกรุงลอนดอน ส่วนเว็บบ์ได้รับมอบหมายให้สำรวจชีวิตคนงานท่าเรือในเขตอีสต์เอนด์ (East End) ซึ่งเป็นเขตยากจน การอพยพเข้ามาพำนักอาศัยของชาวยิวและแรงงานไร้ฝีมือในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าทำให้เธอถึงกับอำพรางตนเป็นช่างเย็บผ้าใน ค.ศ. ๑๘๘๘ ผลงานของเธอเกี่ยวกับกรรมกรท่าเรือและอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่กำหนดชั่วโมงทำงานที่ยาวนานและค่าจ้างต่ำได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nineteenth Centuryและหลังจากนั้นเธอได้รับเชิญไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในสภาขุนนาง (House of Lords) ด้วยเธอวิจารณ์ความไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่ไม่สามารถขจัดปัญหาความยากจนระดับรากเหง้า นอกจากนี้เธอเรียนรู้แล้วว่าการแก้ปัญหาความยากจนนั้นต้องอาศัยองค์กรที่ผู้ใช้แรงงานก่อตั้งขึ้นเอง เช่น สหภาพแรงงาน สหกรณ์ต่าง ๆ

 เบียทริซเว็บบ์ได้ออกผลงานเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับการสหกรณ์ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ เรื่อง The Co-operative Movement in Great Britain ซึ่งต่อมาถือเป็นงานเขียนคลาสสิก เมื่อเธอเริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับการสหกรณ์นั้น เธอไปพักอยู่กับญาติห่าง ๆ ในเมืองเล็ก ๆของมณฑลแลงคาเชียร์ (Lancashire) เธอจึงรับรู้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งมักจัดตั้งขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมแทบทุกเมือง และยังได้รับคำแนะนำให้ติดต่อกับ ซิดนีย์ เจมส์ เว็บบ์ (Sidney James Webb)* เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งค้นคว้าเรื่องนี้โดยเฉพาะและได้รับการบอกเล่าว่าเขาเป็นคลังข้อมูลซิดนีย์ เว็บบ์เป็นนักสังคมนิยมและสมาชิกก่อตั้งของสมาคมเฟเบียน การพบกันครั้งแรกไม่น่าประทับใจนักเมื่อสังเกตจากคำพูดที่เธอจดในบันทึกประจำวันว่า ซิดนีย์ เว็บบ์มีรูปร่างเล็ก ผิวพรรณไม่ผ่องใส สำเนียงค็อกนีย์ (Cockney) และดูยากจน อย่างไรก็ตาม การที่ซิดนีย์ เว็บบ์เป็นคนเฉลียวฉลาดและมีอุปนิสัยตรงกับเธอก็มีส่วนทำให้เธอสนิทสนมกับเขา

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ เธอสมรสกับซิดนีย์ เว็บบ์ ซึ่งเธอบันทึกว่าเธอแต่งงานเพราะสมองของเขา ทั้งสองใช้เวลาช่วงฮันนีมูนด้วยการเดินทางไปค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่นครกลาสโกว์ (Glasgow) และนครดับลิน (Dublin) เมื่อกลับมายังกรุงลอนดอนทั้งคู่จัดแจงหาที่พำนักถาวร ซิดนีย์ เว็บบ์ลาออกจากราชการและตกลงกันว่าจะดำรงชีพโดยอาศัยเงินมรดก ๑,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีของเบียทริซที่ได้รับจากบิดาที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ มกราคมปีเดียวกันนั้น และเงินที่ได้จากการเขียนหนังสือและออกหนังสือพิมพ์เพื่อจะได้สามารถทุ่มเทเวลาให้แก่งานวิจัยสังคมและข้อเขียนทางการเมือง เบียทริซได้ติดตามสามีเข้าเป็นสมาชิกสมาคมเฟเบียน หลังจากนั้นทั้งคู่เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการของรัฐหลายชุดและผลิตผลงานชิ้นสำคัญ ๆ ร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น History of Trade Unionism (ค.ศ. ๑๘๙๔) Industrial Democracy (ค.ศ. ๑๘๙๗) English Local Government (หนังสือชุดจำนวน ๑๐ เล่ม ค.ศ. ๑๙๐๖–๑๙๒๙) เบียทริซ เว็บบ์ยังมีบทบาทในคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายคนจน (Royal Commission on the Poor Laws) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖–๑๙๐๙ และได้ร่วมกับสามีซึ่งช่วยเธอหาข้อมูลเขียนรายงานที่ปลุกความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับการประกันสังคม สิ่งที่เธอเขียนถือเป็นรายงานจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย (Minority Report) เพราะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่ารัฐควรใช้กฎหมายสงเคราะห์คนยากจนเช่นเดิม แต่เบียทริซเสนอว่าควรยกเลิกกฎหมายคนยากจน และรัฐควรจัดสวัสดิการให้พลเมือง ความคิดของเธอในเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของเซอร์วิลเลียม เบเวอริดจ์ (William Beveridge)* ที่ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิจัยให้แก่เธอและสามี และอีก ๓๕ ปีต่อมา เขาเป็นผู้ดำเนินการจัดรัฐสวัสดิการของอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ สองสามีภรรยาได้ร่วมกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ New Statesman ด้วย บ้านพักของทั้งคู่ในกรุงลอนดอนเป็นที่พบปะสนทนาของรัฐมนตรีและสมาชิกสภาสามัญที่มีแนวคิดสังคมนิยมที่ต้องการรับทราบทรรศนะของเว็บบ์เกี่ยวกับการออกกฎหมายด้านสังคม และทั้งสองก็มีส่วนในการพัฒนาพรรคแรงงาน (Labour Party)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐

 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เบียทริซ เว็บบ์ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการของรัฐหลายชุด และต่อมาเขียนจุลสารหลายฉบับของสมาคมเฟเบียน เช่น Labour and the New Social Order (ค.ศ. ๑๙๑๘) The Wages of Men and Women–Should They be Equal? (ค.ศ. ๑๙๑๙) Constitution for the Socialist Commonwealth of Great Britain (ค.ศ. ๑๙๒๐) Decay of Capitalist Civilization (ค.ศ. ๑๙๒๓) ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เบียทริซและซิดนีย์เว็บบ์กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านพักในมณฑลแฮมป์เชียร์ (Hampshire) หลังจากอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์สังคมนิยม การเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของสมาคมเฟเบียน การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน และการรณรงค์เพื่อการสถาปนารัฐสวัสดิการใน ค.ศ. ๑๙๒๙ซิดนีย์เว็บบ์ได้รับการสถาปนาเป็นบารอนพาสฟีลด์ (Baron Passfield) และเข้านั่งในสภาขุนนาง อย่างไรก็ดี เบียทริซปฏิเสธที่จะใช้คำนำหน้าว่าเลดีพาสฟีลด์ (Lady Passfield)

 เบียทริซ เวบบ์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้สรรค์สร้างวลี “การต่อรองร่วมกัน” (collective bargaining) ถึงแก่กรรมที่เมืองลิปฮุก (Liphook) ในมณฑลแฮมป์เชียร์เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ รวมอายุ ๘๕ ปี เธอและซิดนีย์ เว็บบ์ไม่มีบุตรด้วยกัน แต่ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เธอเคยกล่าวเปรียบเปรยว่าทายาทที่โดดเด่นของเธอและสามีคือ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน และหนังสือพิมพ์ New Statesman ซึ่งออกรายอาทิตย์และมีผู้อ่านจำนวน ๒๕,๐๐๐ คน กล่องบรรจุเถ้ากระดูกของเธอฝังไว้ในสวนของบ้านที่พาสฟีลด์คอร์เนอร์ (Passfield Corner) ส่วนของซิดนีย์ก็ฝังไว้ที่เดียวกันนี้เมื่อเขาเสียชีวิตใน ๔ ปีต่อมา ไม่นานหลังจากนั้นจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักประพันธ์บทละครชื่อดังผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเฟเบียนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำพิธีฝังเถ้ากระดูกของทั้งคู่ใหม่ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในกรุงลอนดอนซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพบุคคลสำคัญ ๆ ของประเทศ ปัจจุบันกล่องบรรจุเถ้ากระดูกของทั้งคู่จึงอยู่ที่วิหารดังกล่าวใกล้กับหลุมศพของเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคแรงงานซึ่งนำนโยบายการจัดรัฐสวัสดิการที่สามีภรรยาตระกูลเว็บบ์สนับสนุนมาใช้เป็นครั้งแรกในอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลงซึ่งครอบคลุมพลเมืองทุกคน

 เอกสารของเบียทริซ เว็บบ์ตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกที่เธอเขียนลงหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ในเขตอีสต์ลอนดอนโดยตีพิมพ์ใน Pall Mall Gazette เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๖ ซึ่งเป็นปีที่เธอเริ่มทำงานกับบูทรวมถึงอนุทินประจำวันของเธอเก็บอยู่ที่ห้องสมุดดิจิทัลของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ เธอเขียนอนุทินประจำวันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๓ ขณะมีอายุ ๑๕ ปี ตราบจนกระทั่งสิ้นชีวิต ในอนุทินนั้นเธอบันทึกกิจวัตรที่ทำในแต่ละวัน ความสัมพันธ์กับญาติมิตร ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งความหวั่นกลัวด้วยเพราะแม้เธอจะอยู่ในครอบครัวที่มีความเป็นอยู่สุขสบายแต่ก็เผชิญกับภาวะซึมเศร้าเป็นระยะ ๆ ดังที่เธอบันทึกเมื่ออายุ ๑๖ ปีว่าเธอรู้สึกไร้ค่า มีการจัดพิมพ์อนุทินของเธอระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒–๑๙๒๔ ความยาว ๒ เล่ม โดยมีเบเวอริดจ์เขียนคำนำนอกจากเรื่องขบวนการสหกรณ์แล้ว ผลงานเฉพาะของเธอเองที่มิได้เขียนร่วมกับสามียังมี Wages of Men and Women: Should they be equal? (ค.ศ. ๑๙๑๙) My Apprenticeship (ค.ศ. ๑๙๒๖) และ Our Partnership (ค.ศ. ๑๙๔๘).



คำตั้ง
Webb, Beatrice
คำเทียบ
นางเบียทริซ เว็บบ์
คำสำคัญ
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- เบเวอริดจ์, เซอร์วิลเลียม
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- รัฐสวัสดิการ
- เว็บบ์, ซิดนีย์ เจมส์
- เว็บบ์, เบียทริซ
- เวลส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สมาคมเฟเบียน
- สหภาพแรงงาน
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1858–1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๐–๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-